
โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา จัดงานครบรอบ 24 ปี ทุ่มงบ 100 ล้านบาท เปิดศูนย์อุบัติเหตุ (Trauma Center) “ทุกอุบัติเหตุ เราพร้อมดูแล” ตลอด 24 ชั่วโมง อุปกรณ์มาตรฐาน,ทีมแพทย์เฉพาะทางผู้ป่วยอุบัติเหตุ, รถฉุกเฉิน, มีห้องเอกซเรย์วินิจฉัยรวดเร็ว รองรับผู้ป่วยอุบัติเหตุในเขตจังหวัดนครชัยบุรินทร์
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา พลตำรวจตรีวัชรินทร์ บุญคง ผบก.ภ.นครราชสีมา, ว่าที่ร้อยตรีนิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา,
พลตรีนายแพทย์วสันต์ สุเมธสิทธิกุล กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา เป็นประธานจัดงานฉลองครบรอบ 24 ปี และเปิดศูนย์อุบัติเหตุ (Trauma Center) โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา มีแขกผู้มีเกียรติร่วมงานเป็นจำนวนมาก

พลตรีนายแพทย์วสันต์ สุเมธสิทธิกุล
พลตรีนายแพทย์วสันต์ สุเมธสิทธิกุล กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมาถือเป็นประตูสู่อีสาน ในแต่ละวันมีผู้คนเดินทางผ่านจังหวัดนครราชสีมาเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้น จากสถิติพบว่าผู้ประสบเหตุต้องเข้ารับการผ่าตัด-ผ่าตัดสมอง โดยเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 ราย
โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมาจึงเล็งเห็นว่าเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการดูแลรักษาผู้ที่ได้รบบาดเจ็บในโรงพยาบาลรัฐบาล ผู้บริหารระดับสูงได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 100 ล้านบาท ในการเพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุให้มีความเป็นเลิศ เพื่อรองรับผู้ป่วยอุบัติเหตุดังกล่าว เปิดเป็นศูนย์อุบัติเหตุโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา
ศูนย์อุบัติเหตุ โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมาได้รับการรับรองมาตรฐานการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางบก โดยมาตรฐาน CAMTS ของประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2561 ในการรับผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุ มีแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ประจำรถฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง ในรถฉุกเฉินได้ติดตั้งระบบติดตามระยะไกล (Telegraphics and tracking system) ซึ่งจะส่งข้อมูลของผู้ป่วยเข้ามาที่โรงพยาบาลแบบเป็นปัจจุบัน เพื่อปรึกษาแพทย์เฉพาะทางและเตรียมการรักษาทันทีเมื่อผู้ป่วยถึงโรงพยาบาล
โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมาได้เพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน โดยปรับปรุงพื้นที่บริการของศูนย์อุบัติเหตุใหม่ทั้งหมด เช่น ปรับปรุงพื้นที่รับผู้ป่วยฉุกเฉินเพื่อคัดกรองให้สะดวกรวดเร็ว, ปรับปรุงพื้นที่เตียงประจำห้องฉุกเฉินให้แยกบริเวณชัดเจน, สร้างห้องช่วยชีวิตผู้ป่วยอุบัติเหตุ (Trauma Shock Room) ซึ่งเป็นห้องช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่สามารถทำการผ่าตัดได้ในตัวโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังห้องผ่าตัด เพิ่มเติมจากห้องช่วยฟื้นคืนชีพผู้ป่วยทั่วไป และยังสร้างห้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (64 Slices CT Scan) ให้อยู่ในศูนย์อุบัติเหตุ โดยติดกับห้องฉุกเฉิน เพื่อให้การวินิจฉัยที่รวดเร็ว ไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากศูนย์อุบัติเหตุไปที่ศูนย์เอกซเรย์
นอกจากนี้ศูนย์อุบัติเหตุยังมีทีมแพทย์เฉพาะทางสาขาที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยอุบัติเหตุ เช่นแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน, แพทย์โรคกระดูกและข้อด้านอุบัติเหตุ, แพทย์โรคกระดูกและข้อด้านกีฬา, แพทย์โรคกระดูกและข้อเฉพาะทางด้านมือ, แพทย์ผ่าตัดกระดูกสันหลัง, แพทย์ศัลยกรรมทั่วไป, แพทย์ศัลยกรรมสมอง, แพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง, แพทย์ศัลยกรรมหลอดเลือด เป็นต้น ที่พร้อมให้การรักษาผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง โดยแพทย์เฉพาะทางเหล่านี้จะประจำยังศูนย์เฉพาะโรคต่างๆ ซึ่งโรงพยาบาลได้ปรับปรุงศูนย์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยอุบัติเหตุทั้งหมด ให้อยู่ใกล้กับศูนย์อุบัติเหตุเพื่อการทำงานที่เชื่อมโยงกันอย่างรวดเร็ว
เพื่อความปลอดภัยและความรวดเร็วในการรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุ ศูนย์อุบัติเหตุได้จัดให้มีระบบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบรวดเร็ว (Fast Track) เพื่อแยกผู้ป่วยอุบัติเหตุรุนแรงออกจากผู้ป่วยไม่รุนแรง และจัดให้มีการประกาศรหัสแจ้งเตือนผู้ป่วยอุบัติเหตุ (Trauma Alert Code) ซึ่งจะประกาศเรียกทีมรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุซึ่งเป็นสหสาขาวิชาชีพทั้งหมดมาร่วมดูแล โดยเตรียมความพร้อมภายใน 10 นาที และถ้ามีความจำเป็นต้องผ่าตัดด่วนสามารถทำการผ่าตัดได้ทันที โดยมีระบบการสำรองเลือด ซึ่งสามารถจัดหาเลือดในกรณีที่ผู้ป่วยเสียเลือดมากได้อย่างทันท่วงที
ในส่วนของการพักฟื้นผู้ป่วย ได้จัดให้มีแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลผู้ป่วยวิกฤต white ประจำหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) เพื่อติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าผู้ป่วยจะพ้นภาวะวิกฤต และไปพักฟื้นต่อที่หอผู้ป่วยปกติ และยังสร้างห้องดูแลแผลบาดเจ็บ จากความร้อน (Burn Unit) ไว้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มแผลบาดเจ็บจากความร้อนรุนแรงไว้ที่หอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตด้วย หลังผู้ป่วยกลับบ้าน ได้จัดทีมวิชาชีพ เช่น พยาบาล, นักกายภาพบําบัด, นักโภชนาการ เป็นต้น เพื่อเยี่ยมผู้ป่วยหลังออกจากโรงพยาบาลภายใน 30 วัน เพื่อติดตามอาการ พร้อมให้คำแนะนำเมื่อผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้าน
“การดำเนินการดังกล่าว ใช้เวลาจนแล้วเสร็จประมาณ 2 ปี โดยขณะนี้ศูนย์อุบัติเหตุโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา พร้อมให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มอุบัติเหตุฉุกเฉินในทุกอุบัติเหตุ และยังร่วมมือในด้านการพัฒนามาตรฐานการดูแลผู้ป่วย ร่วมกับโรงพยาบาลในเครือข่าย เพื่อพัฒนาดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุให้มีความเป็นเลิศตามนโยบาย ศูนย์แห่งความเป็นเลิศ (Center of Excellence) ของโรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมาต่อไป” พลตรีนายแพทย์วสันต์ สุเมธสิทธิกุล กล่าว
RSS